สวนกล้วยไม้ทันหิกรณ์
การเลี้ยงกล้วยไม้

การเลี้ยงกล้วยไม้

กล้วยไม้เลี้ยงง่าย เพียงแค่เข้าใจนิสัยและความต้องการ

เชื่อว่าหลายคนคงสงสัยว่า “ทำไมกล้วยไม้ที่บ้านไม่ออกดอกสวยงามเหมือนตอนซื้อมา” แท้ที่จริงแล้วกล้วยไม้แต่ละชนิดต้องการการดูแล และมีระยะการออกดอกที่แตกต่างกัน การเลี้ยงกล้วยไม้ให้รอดและออกดอกสวยงามควรเริ่มจากศึกษา ทำความเข้าใจปัจจัยที่เอื้อต่อการเจริญเติบโต เรียนรู้การดูแล และนิสัยของกล้วยไม้แต่ละชนิด

วิธีปลูกกล้วยไม้ง่าย ๆ ที่บ้าน

รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐา โพธาภรณ์ ที่ปรึกษาสมาคมกล้วยไม้เชียงใหม่ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และอาจารย์ประจำภาควิชาพืชศาสตร์และปฐพีศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แนะนำวิธีการปลูกกล้วยไม้ในบ้านว่า ต้องเริ่มจากการเข้าใจนิสัย ความต้องการของกล้วยไม้ที่เราปลูกทั้งในเรื่องของแสงแดด ความชื้นและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของกล้วยไม้ชนิดนั้น ๆ

เลี้ยงกล้วยไม้ต้องเข้าใจ

ในโลกมีกล้วยไม้พันธุ์แท้มากกว่า 20,000 ชนิด และกล้วยไม้ลูกผสมผสมอีกมากกว่า 100,000 ชนิด ซึ่งกล้วยไม้พันธุ์แท้เป็นกล้วยไม้ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติออกดอกปีละหนึ่งครั้งเท่านั้น ส่วนกล้วยไม้พันธุ์ผสมอาจจะให้ดอกได้ถึง 2-3 ครั้งต่อปี โดยสามารถจำแนกเป็น 2 ประเภท คือ กล้วยไม้รากอากาศ และกล้วยไม้ดิน

กล้วยไม้ประเภทรากอากาศสังเกตง่าย ๆ คือกล้วยไม้ที่เกาะอยู่ตามต้นไม้แบบอิงอาศัย อาทิ กล้วยไม้สกุลแวนดา สกุลช้าง สกุลเข็ม และสกุลหวาย

กล้วยไม้ดิน เป็นกล้วยไม้ที่ต้องอาศัยดินในการเจริญเติบโต วัสดุปลูกที่นิยมนำมาใช้เป็นดินที่ผสมกากมะพร้าวสับ หรือผสมกับกรวดหยาบ ๆ เพื่อให้เกิดการร่วนซุย อีกทั้งกล้วยไม้ดินบางชนิดสามารถขึ้นได้ดีในดินเหนียวและลูกลังอีกด้วย กล้วยไม้ที่จัดอยู่ในประเภทนี้ เช่น เอื้องพร้าว ลิ้นมังกร กล้วยไม้สกุลรองเท้านารี

ดูแลกล้วยไม้ต้องทำอย่างไร

ข้อแนะนำในการดูแลกล้วยไม้ง่าย ๆ คือให้แสงแดดและรดน้ำที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของกล้วยไม้แต่ละชนิด การเลือกวัสดุปลูกมีความสำคัญเช่นเดียวกัน เพราะเป็นสิ่งที่ช่วยในการกักเก็บความชื้นไว้ได้ วัสดุกักเก็บความชื้น เช่น กากมะพร้าว สแฟกนั่มมอส (Sphagnum moss) ถ้าหากไม่มีวัสดุปลูกที่กักเก็บความชื้นให้รดน้ำทุกวันตามเวลาที่สะดวก เว้นแต่ในช่วงฤดูหนาวไม่ควรรดน้ำในขณะที่อุณหภูมิอากาศต่ำ หรือหนาวเย็นจนเกินไป เพราะจะทำให้กล้วยไม้เกิดอาการสะท้านได้ อุณหภูมิน้ำที่เหมาะสำหรับการรดน้ำอยู่ที่ 25 องศาเซลเซียส หากรดน้ำตอนกลางวันควรระวังเรื่องอุณหภูมิน้ำที่สูงเกินไป

กล้วยไม้ที่มีลักษณะใบใหญ่ หนา แข็ง หรือกล้วยไม้สกุลอะแคมเป (Acampe) อาทิ เอื้องสารภี เอื้องตีนเต่า และเอื้องดอกมะขาม กล้วยไม้ตระกูลนี้จะเปิดปากใบ และดูดซับแก๊สคาร์บอนไดออกไซค์ในตอนกลางคืน ฉะนั้นเวลาที่เหมาะในการให้ปุ๋ยสำหรับกล้วยไม้ตระกูลนี้คือช่วงเย็นเพราะสามารถดูดซึมกักเก็บไว้สร้างอาหารต่อไปได้

ปัญหาที่มักพบบ่อยในการปลูกกล้วยไม้

หากรดน้ำกล้วยไม้ในตอนเย็นอาจเกิดน้ำขังที่ส่วนยอดของกล้วยไม้ ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาโรคเน่า ที่อาจส่งผลรุนแรงทำให้กล้วยไม้ยุบตายทั้งต้น หรือหากให้ความชื้นแก่กล้วยไม้ตลอดเวลาอาจทำให้เกิดเชื้อรา เมื่อเกิดเชื้อราบนใบกล้วยไม้แก้ได้ด้วยการตัดส่วนที่ติดโรคทิ้ง พร้อมป้ายปูนแดง เนื่องจากเชื้อราไม่ชอบสภาพที่เป็นด่าง การนำปูนแดงมาป้ายจึงเป็นวิธีที่ทำให้เชื้อราเจริญกลับมาไม่ได้

ในเรื่องของแมลง ศัตรูที่สำคัญคือ แมลงค่อม แมลงค่อมจะเข้าไปกัดกินดอกของกล้วยไม้และวางไข่ หลังจากนั้นหนอน หรือตัวอ่อนแมลงค่อมที่เกิดมาจะกัดกินดอกกล้วยไม้ด้วยเช่นกัน หากพบเจอแมลงค่อมให้จับออกเพื่อลดการแพร่พันธุ์ และลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้น

กล้วยไม้มีทั้งที่เลี้ยงง่ายและเลี้ยงยาก อีกทั้งกล้วยไม้ต่างชนิดกันมักต้องการการดูแลที่แตกต่างกัน ก่อนเลี้ยงควรศึกษาสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ของกล้วยไม้ชนิดนั้น ๆ และควรเริ่มเลี้ยงกล้วยไม้จากชนิดง่าย ๆ ไปสู่กล้วยไม้ชนิดที่เลี้ยงยากขึ้น เพราะหากเราเข้าใจ มีความชำนาญ และมีความรู้มากพอ การเลี้ยงกล้วยไม้ในบ้านให้ออกดอกสวยงามและสมบูรณ์นั้นไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

อ้างอิงจาก https://www.agri.cmu.ac.th/2017/webs/mainmenu_detail/4/3663/1